Friday, November 15, 2013

ฤดูผสมพันธุ์ breeding season

เห็นภาพนกในชุดขนของฤดูผสมพันธุ์ไปบ้างแล้ว สงสัยบ้างไหมว่าฤดูผสมพันธุ์ของนกอยู่ในช่วงเวลาใด ธรรมชาติออกแบบให้นกสืบพันธุ์ในช่วงเวลาที่จะหาอาหารเลี้ยงลูกให้มีชีวิตรอดได้มากที่สุด ฤดูหนาวนกในเขตซีกโลกภาคเหนือจะอพยพลงใต้ อาจต้องการหาที่อบอุ่นหรือหาของถูกปาก แล้วมีโอกาสพบเนื้อคู่ด้วย สำหรับนกประจำถิ่นในเมืองไทยก็อพยพเหมือนกัน แต่ไม่ได้ไปไกล มักเป็นการย้ายถิ่นฐานอยู่ภายในประเทศ เหมือนในข่าวเรื่องนกจาบคาหัวเขียวที่กลับภูมิลำเนาไปทำรังเป็นอุโมงค์อยู่กันที่เมืองเพชรบุรี
ตอนนี้อากาศเริ่มเย็นลงบ้าง ไปไหนผู้คนก็ไถ่ถามกันถึงนกอพยพ ก็พวกดูนกมันไม่ค่อยสนใจเรื่องอื่น เจอก็ทักทายกันไปตามมารยาทแต่ใจไปอยู่ที่อื่น
การจับคู่ของนกมีเรื่องน่าติดตามพอสมควร อย่างนกบางชนิดเมื่อจับคู่แล้วจะเลี้ยงลูกอยู่ด้วยกันจนกว่าลูกจะโต หรือบางชนิดจับคู่แล้วจะอยู่ด้วยกันตลอดไปก็มี
เกริ่นเป็นเชื้อไว้ก่อน เมื่อได้ภาพนกในสถานการณ์มาประกอบจะนำเสนอต่อไป
ที่พุทธมณฑลวันนี้ นกที่ได้พบและบันทึกภาพไว้มี...

นกกะเต็นอกขาว White-throated Kingfisher หมอบุญส่งว่าเป็นนกประจำถิ่น แต่ตัวนี้เพิ่งมาเข้าพักที่สวนเวฬุวันได้ไม่นาน


นกยางควาย Cattle Egret ภาพนี้แสดงลักษณะเฉพาะคือ ปากเหลืองหนาและสั้น ในภาพที่เห็นปลายปากมีวัตถุสีขาวคือมันเพิ่งไซ้ขนติดมา พบที่สวนเวฬุวัน

นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ Greater Racket-tailed Drongo เป็นนกประจำถิ่นของพุทธมณฑล พบที่บริเวณตรงข้ามทางเข้าสวนวัดปากน้ำ
ภาพนี้แสดงลักษณะเฉพาะคือ ขนปลายหางสองเส้นบิดไปคนละทาง

นกตะขาบทุ่ง Indian Roller พบที่ตรงข้ามสวนวัดปากน้ำ เป็นนกประจำถิ่นของพุทธมณฑลที่พบบ่อยมาก ธรรมดามันจะไม่ยอมอยู่นิ่งให้บันทึกภาพ บังเอิญมันบินมาเกาะเข้าทางพอดีบนป้ายสหพัฒนพิบูลย์ ได้ภาพทั้งด้านหลังและด้านหน้า เห็นหนวดเคราชัดเจน



นกกาเหว่า เพศผู้ Asian Koel พบที่ตรงข้ามสวนวัดปากน้ำ เป็นนกประจำถิ่นของพุทธมณฑล เสียงร้อง "กาเว้า กาเว้า" ได้ยินบ่อยมาก แต่หาตัวไม่เจอ อย่างภาพนี้ตอนแรกก็มองไม่เห็น ได้ยินเสียงหันไปดูเห็นแต่เงาดำๆ ก็ถ่ายไว้ มาดูทีหลังจึงเห็นว่าได้ภาพที่ชัดมาก

สำหรับค่าการเซตกล้องมีดังนี้
Mode: Tv
ISO-80
Focal Length: 215 mm.
White balance: cloudy
Teleconverter: 2x
Time: 1/125


No comments:

Post a Comment